Light Yagami - Death Note

ย้อนรอยมรณะ!!...10 เหตุการณ์โศกนาฎกรรมสุดสยองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตอนที่ 1 (TopTen Thailand 's Most Shocking Events Tragedies!! Pt.1)


 ชีวิตคนเรานั้นมันช่างสั้นนัก...
คำพูดแบบนี้ฟังแล้วแลดูจะรู้สึกสลดหดหู่
และมองโลกในแง่ร้ายไปหน่อย
แต่มันก็คือความจริงที่เราจะต้องเผชิญ.....

บางครั้งเราอาจจะใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ไปเรื่อยๆ 
บางคนมีเป้าหมาย บางคนก็ไร้ซึ่งจุดหมาย 
แต่จะมีใครรู้บ้างว่า สุดท้ายแล้ว วันข้างหน้า
เราจะประสปพบพานกันสิ่งใด....

ดังเช่นบทความที่ผมกำลังจะหยิบยกมาเล่าให้ทุกคนได้ฟัง 
ได้อ่านกันในวันนี้...
มันคือเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย และ 
ทุกๆเหตุการณ์ก็ไม่มีใครล่วงรู้ว่ามันจะเกิดขึ้นกับตัวเอง.... 
สุดท้ายเมื่อมันเกิดขึ้นและจบลง 
มันก็นำมาซึ่งความสูญเสีย ครั้งแล้วครั้งเล่า 
และใครจะรู้....
ว่าสักวันหนึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว กับคนที่เรารัก 
หรือแม้กระทั่งกับตัวของเราเอง....

ดังนั้นเราก็ทำได้เพียงแค่ นำเหตุการณ์เหล่านั้นมาศึกษา 
หาสาเหตุ และหนทางป้องกัน...
แม้มันจะไม่ได้ช่วยอะไรได้มาก 
แต่มันก็อาจจะทำให้เราได้รู้ท่วงทัน 
และแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้....

และก่อนที่จะเข้าเรื่อง ผมก็ขอไว้อาลัย ให้แก่ผู้เสียชีวิตทุกๆท่าน 

ที่อยู่ในเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยนะครับ....





เอาล่ะ มาเข้าเรื่องกันเลย.....

มาพบกับเหตุการณ์แรกกันก่อน....

กับ อันดับที่ 10 ของเรา!!



อันดับที่ 10  
เพลิงนรก เคาท์ดาวน์มรณะ ซานติก้าผับ!!


คืนวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ที่ "ซานติก้าผับ" สถานบันเทิงหรูหรา ย่านเอกมัย อาคาร 3 ชั้น รูปทรงแปลกตา ที่เป็นที่นิยมของนักท่องราตรีกระเป๋าหนัก ต่างมาร่วมฉลองเลี้ยงส่งท้ายปีเก่ากัน อีกทั้งยังเป็นการส่งท้ายผับแห่งนี้ เนื่องจากเจ้าของจะเลิกกิจการ คืนวันนั้น นักท่องราตรีจึงมีเยอะเป็นพิเศษ....



วงดนตรีวงต่างๆ ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นไปบรรเลงเพลงอย่างเมามัน จนเวลาเกือบเที่ยงคืน ซึ่งเวลานั้น เป็นหน้าที่ของ "วงเบิร์น" นักร้องประจำ ขึ้นไปสร้างความเมามันส์ และเป็นผู้นำในการนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่พอเวลาเที่ยงคืนพอดีเป๊ะ พลุดอกไม้ไฟที่เตรียมไว้ ก็ถูกจุดขึ้นตัว อักษร HAPPY NEW YEAR ลุกสว่าง และพลุที่วางเรียงรายอยู่หน้าเวทีก็ถูกจุดขึ้นพร้อมกันอย่างสวยงาม โดยไม่มีใครคาดคิดว่า หายนะกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า สะเก็ดดอกไม้ไฟพุ่งขึ้นไปติดเพดาน แต่ทุกคนยังคงสนุกสนาน โดยไม่มีใครเอะใจ จนนักร้องนำวงนี้ รู้สึกว่ามีสะเก็ดไฟตกใส่ เลยแหงนหน้ามอง ก็เห็นเปลวไฟกำลังลุกไหม้ฝ้าเพดาน....
 
 
เสียงตะโกนดังขึ้น "ไฟไหม้!!!" เพื่อนร่วมวงรีบเผ่นหนีออกทางประตูหลัง ส่วนนักท่องราตรีก็เริ่มเห็นว่ามีไฟไหม้ ก่อนที่ไฟฟ้าจะดับ และสะเก็ดไปเริ่มตกใส่ตัว ทุกคนต่างพากันแตกตื่น วิ่งหนีตายกันจ้าละหวั่น เบียดเสียดยัดเยียดเหยียบกัน เพราะคืนดังกล่าวมีนักท่องราตรีร่วม 1,000 คนเต็มพื้นที่ ทั้งชั้น 1 ชั้นลอย และชั้นใต้ดินของผับ และส่วนใหญ่ก็อยู่ในอาการเมามาย ไม่มีสติ อีกทั้งประตูทางออกมามีเพียงด้านหน้าและด้านหลังที่พนักงานใช้เข้า-ออก ส่วนหน้าต่างก็ติดเหล็กดัดอย่างแน่นหนา เปลวเพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็ว รุนแรง เสียงกรี๊ด!!! เสียงร้องขอความช่วยเหลือดังระงม ควันไฟพวยพุ่งออกจากผับ ผู้คนหนีตายชุลมุน โกลาหล....


ก่อนที่รถดับเพลิงและรถอาสากู้ภัย กว่า 20 คัน จะถูกระดมมาฉีดน้ำสกัดไฟ และเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงได้เข้าไปช่วยเหลือผู้คนที่ติดคาอยู่ข้างใน แต่ก็ช่วยได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะผับมีการออกแบบมาด้วยรูปทรงที่แสนแปลกประหลาด ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าช่วยเหลือ พอเพลิงสงบก็พบว่ามีผู้บาดเจ็บกว่า 200 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เริ่มเข้าไปค้นหาผู้ที่ตกค้างอยู่ด้านใน และต้องตกตะลึง!! เมื่อพบศพผู้เสียชีวิตนอนทับถมเบียดเสียด ถูกไฟคลอกดำเป็นตอตะโก ก่อนจะลำเลียงร่างออกมารวม 59 ศพ สร้างความหดหู่ใจให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในเวลานั้นยิ่งนัก....


ช่วงเช้า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งกำลังได้รับตำแหน่งหมาดๆ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตการณ์ด้วยตนเอง พร้อมสั่งการให้ตำรวจดำเนินการอย่างเต็มที่ในการหาคนที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ สถานบันเทิงแห่งนี้กลายเป็นเมรุเผาศพขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ตำรวจ สน.ทองหล่อ ได้ทำสำนวนคดีรวบรวมพยานหลักฐาน ออกหมายเรียกหุ้นส่วนของผับนี้มาสอบปากคำ 13 คน และรวบรวมพยานหลักฐาน จนสืบทราบว่าผับแห่งนี้ไม่ได้รับอนุญาตในการประกอบกิจการ ซึ่งระหว่างนั้นยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 66 ศพ!!




จึงมีคำถามว่า เพราะเหตุใดตำรวจและกรุงเทพมหานครจึงยอมให้ผับแห่งนี้เปิดได้อย่างไร และมาเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น โดยทางตำรวจให้เหตุผลว่า ที่จริงแล้ว ผับแห่งนี้ยื่นขออนุญาตเปิดกิจการเมื่อปี 2546 แต่ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลเห็นว่า อยู่ระหว่างการก่อสร้างและอยู่นอกพื้นที่โซนนิ่ง จึงไม่อนุญาตให้เปิดกิจการ แต่ทางเจ้าของผับได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้สั่งคุ้มครอง เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2547 จนศาลปกครองออกคำสั่งคุ้มครอง ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. 2547 เป็นต้นมา


ทำให้สำนักงานศาลปกครอง ต้องออกมาชี้แจงตอกหน้าตำรวจว่า หลังจากศาลปกครองออกคำสั่งคุ้มครองแล้ว ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย จึงเพิกถอนคำสั่งคุ้มครอง สิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.ในปีเดียวกัน และวันที่ 7 มี.ค. 2550 ศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้ทางผู้กำกับการ สน.ทองหล่อ แพ้คดี เพราะผู้ประกอบการยื่นตั้งสถานประกอบการไม่ขัดต่อกฎหมาย อีกทั้งเจ้าของกิจการยื่นก่อนที่ พ.ร.บ.โซนนิ่ง จะออกมาบังคับใช้ และทางตำรวจได้อุทธรณ์ต่อ ซึ่งเรื่องก็อยู่ที่ศาลปกครองสูงสุด ยังไม่ทันได้พิจารณา ก็มาเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเสียก่อน ซึ่งเรื่องถูก หรือผิดในการก่อสร้างผิดแบบ ก็เป็นเรื่องของตำรวจและ กทม.


หลังศาลปกครองออกมารูปแบบนี้ ทำเอา กทม.ร้อนหนาวไปตามกัน กับเรื่องการก่อสร้างผิดแบบของผับนี้ จนมีการล้อมคอกครั้งใหญ่ เรียกเจ้าของอาคารกว่า 2,000 ราย ให้รีบยื่นแบบตรวจสอบ และยังทำเอาผู้อำนวยการเขตวัฒนาและผู้อำนวยการเขตปทุมวันอดีตผู้อำนวยการเขต วัฒนา ถูกเด้งเข้ากรุ เซ่นซานติก้าผับไปตามระเบียบ....
 

พนักงานสอบสวนก็ทำการรวบรวมพยานหลักฐาน จนสามารถออกหมายจับ นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ หรือ "เสี่ยขาว" หุ้นส่วนใหญ่ และนายสุริยา ฤทธิ์ระบือ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์แอนด์ บราเธอร์ จำกัด ใน 2 ข้อหา คือ ร่วมกันทำการโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และข้อหาร่วมกันเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งสถานบริการ ยินยอมและปล่อยปละละเลยให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าในสถานบันเทิง ต่อมา เสี่ยขาวได้เข้ามอบตัวกับ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร.ในขณะนั้น เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา แต่ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมขอประกันตัวด้วยเงิน 1,000,000 บาท ออกไปสู้คดี 


จากนั้นก็มีการออกหมายจับ "มิว" นักร้องนำ ที่มีพยานระบุว่าเป็นคนจุดดอกไม้ไฟ จนมิวเข้ามอบตัวปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคนจุดดอกไม้ไฟตัวต้นเพลิง ส่วนนายสุริยาตำรวจเชื่อว่าหลบหนีไปต่างประเทศ และหลังจากนั้นก็มีเรื่องยาเสพติดและเรื่องการฟอกเงิน กลายเป็นมหากาพย์เรื่องยาว ระหว่างกระทรวงยุติธรรม โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ออกมาโต้ทางตำรวจเรื่องมิว นักร้องนำ ที่ไม่ได้เป็นคนจุดดอกไม้ไฟและเรื่องราวต่างๆ ในรูปคดี แต่ทำไปทำมา จนแล้วจนรอด วันที่ 19 ต.ค. 2552 พนักงานสอบสวนก็ส่งสำนวนคดีเพลิงไหม้ซานติก้าให้อัยการจนได้.....

โดยพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 กับโจทก์ รวมญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวม 64 คน ฟ้อง นาย วิสุข เสร็จสวัสดิ์ หรือ "เสี่ยขาว" กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (2003) จำกัด ผู้บริหารซานติก้าผับ, นายธวัชชัย ศรีทุมมา ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการ, นายพงษ์เทพ จินดา ผจก.ฝ่ายบันเทิง, นายวุฒิพงศ์ ไวลย์ลิกรี ผจก.ฝ่ายการตลาด, นายสราวุธ อะริยะ นักร้องวงเบิร์น ผู้จุดพลุไฟ, บริษัท โพกัสไลท์ ซาวน์ซิสเต็ม จำกัด ซึ่งรับจ้างติดตั้งการทำเอฟเฟกต์ ซานติก้าผับ และนายบุญชู เหล่าสีนาท กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท โพกัสไลท์ฯ เป็นจำเลยที่ 1-7 


ความผิดฐานผู้ใดทำให้เกิดเพลิงไหม้เป็นเหตุให้ผู้อื่น ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายและเป็นอันตรายกับชีวิตผู้อื่น, ผู้ใดกระทำการประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ผู้ใดกระทำการให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และผู้ใดกระทำการให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ และกระทำผิด พ.ร.บ.สถานบริการ ฐานเป็นผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการปล่อยปละละเลยให้บุคคลซึ่งอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปในสถานบริการ และปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานบริการรวม 6 ข้อหา....


ระหว่างนั้น เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2552 มีกลุ่มผู้เสียหาย 12 คน ไปยื่นฟ้อง กทม. ต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากละเลยไม่ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมอาคารที่เปิดเป็นสถานบริการ ซานติก้าผับ กล่าวคือ โครงสร้างของอาคาร ระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพมั่นคงและปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง จึงมีคำพิพากษาให้ กทม. ชดใช้ค่าเสียหาย....


ส่วนคดีอาญา เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก นายวิสุขและนายบุญชู เหล่าสีนาท เจ้าของบริษัท โฟกัสไลท์ ซาวน์ ซิสเท็ม ซึ่งรับจ้างทำเอฟเฟกต์ให้ซานติก้าผับ เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งศาลพิเคราะห์หลักฐาน เป็นภาพถ่ายในวันเกิดเหตุ และปากคำของพยานในที่เกิดเหตุแล้ว เห็นว่า ซานติก้าผับไม่มีระบบป้องกันเพลิงไหม้ ไม่มีทางหนีไฟ ไม่มีระบบไฟฉุกเฉิน และใช้วัสดุภายในที่ติดไฟได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทางออกฉุกเฉินที่มีเพียง 4 แห่ง ถือว่าไม่ตรงตามความปลอดภัยที่กฎหมายกำหนด 



จึงพิพากษาให้ฐานกระทำการโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ส่วนจำเลยที่เหลือให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมให้แก่ผู้เสียหาย เป็นเงินรวม 8.7 ล้านบาท เว้น นายสราวุธ อะริยะ นักร้องวงเบิร์น คนจุดพลุไฟขึ้นเพดาน จนทำให้เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งศาลสั่งยกฟ้อง เพราะไม่มีภาพหลักฐานปรากฏให้เห็นว่าเป็นคนจุดพลุจริง หลังจากฟังคำตัดสิน จำเลยได้ยื่นประกันตัวและขอสู้ต่อในชั้นอุทธรณ์ต่อ


จนวันที่ 22 ต.ค. 2554 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์ประชุมตรวจสำนวนแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องอย่างชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 ทำผิดจริง แม้จะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร แต่ไม่ใช่การกระทำประมาทโดยตรง ที่จะทำให้เกิดไฟไหม้ จึงพิพากษาแก้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 คือ เสี่ยขาว....



จำเลยที่ 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 6 และ 7 เป็นผู้ติดตั้งเอคเฟกต์ เมื่อจุดพลุทำให้ประกายไฟติดบนเพดาน ทำให้เกิดเพลิงไหม้ อุทธรณ์จำเลยที่อ้างว่าสาเหตุไฟไหม้เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ไม่มีน้ำหนักหักล้างที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาเห็นชอบแล้วรวมค่าสินไหมทดแทน เหมาะสมแล้วจึงยืนพิพากษาตามชั้นศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 6 บริษัททำเอฟเฟกต์ ปรับ 2 หมื่นและจำคุก จำเลยที่ 7 จำนวน 3 ปี รวมทั้งให้จำเลยที่ 6 และ 7 ร่วมกันชดใช้ผู้เสียหาย 8.7 ล้านบาท

ทั้งนี้ โจทก์ที่เป็นผู้เสียหายหลายราย ยืนยันว่า จะฎีกาสู้ต่อ อย่าง นางสาวรัตนา แซ่ลิ้ม หนึ่งในเหยื่อเพลิงไหม้ซานติก้าผับ ที่ต้องเสียโฉมและกลายเป็นคนพิการ ยืนยันว่า จะสู้ต่อในชั้นฎีกา แม้ว่าวันนี้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้อง ซึ่งยอมรับว่าเสียใจ หลังได้ฟังคำตัดสิน.....


นอกจากนี้ เธอยังเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นให้ฟังว่า

"หลังคำตัดสิน กลับบ้านมา ก็มาเปิดดูภาพ ดูเหตุการณ์วันนั้น รู้สึกสะเทือนใจ รู้สึกแย่มาก มันไม่น่าเกิดขึ้นกับพวกเรา วันนั้นไปกับกลุ่มเพื่อน ตอนแรกก็ไม่ได้จะไปซานติก้า แต่เพื่อนของเพื่อนชวน ก็เลยไป ตอนนั้นเราอยู่ตรงข้ามเวที พอเห็นไฟวิ่งบนเพดาน ไฟก็ดับมืด ควันก็มาเยอะมาก ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่า เข้าทางไหนต้องออกทางนั้น แต่ตอนนั้นคนตรงทางเข้าแน่นมาก แล้วเราก็หลุดมือจากเพื่อน ค่อยๆ เดิน แต่แน่นหน้าอกเลยนั่งลงแล้วก็สลบไป....

พอรู้สึกตัวก็เห็นว่าตัวเองอยู่ข้างหน้าต่าง แล้วกู้ภัยก็มาช่วยออกไป รู้สึกตัวอีกทีอยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว ตอนนั้นดีใจว่าเรายังไม่ตาย เรารอดแล้ว เราก็พักรักษาตัวอยู่นาน จนมาเห็นสภาพตัวเองครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2552 ความรู้สึกแรกอยากตาย เพราะว่ารับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ใบหน้าเรา เรากลายเป็นคนพิการ ร้องไห้ทุกวัน แล้วที่ทำให้เราสภาพจิตใจดีขึ้นมาได้คือ เราฉุกคิดว่า ถ้าฆ่าตัวตาย แต่ไม่ตายล่ะ และเห็นแม่ที่นอนข้างๆ เราตลอด 6 เดือน ที่คอยดูแลเหมือนเราเป็นเด็กทารกล่ะ แม่ยังอยากให้เรามีชีวิตอยู่ต่อเลย แล้วทำไมเราถึงจะไม่สู้ต่อไป จึงปรับสภาพจิตใจเรื่อยๆ คิดว่าทำอย่างไรให้เราอยู่ต่ออย่างมีความสุข"

และในเวลาต่อมา เหตุการณ์นี้ก็ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 
โดย ผกก. พจน์ อานนท์ ในชื่อเรื่อง "ตายโหง" 
เข้าฉายเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553
โดยเนื้อเรื่องจะถูกแยกออกเป็นตอนๆ 
และเรื่องราวของซานติก้าก็ถูกนำไปกล่าวอ้างในชื่อตอนที่ชื่อว่า 
"ซานติฆ่า" 


สรุปยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ 66 คนและยอดผู้บาดเจ็บอีกกว่าสองร้อยคน ถือเป็นเหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของไทยที่หลายคนยังคงจดจำ และ ใช้เป็นกรณีศึกษาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน!! 





อันดับที่ 9 

ย่างสยองกลางกรุง!! รถแก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่



เหตุเกิดเวลาประมาณ 22.00 น.ในคืนวันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2533 รถบรรทุกแก๊สที่ขับโดยนายสุทัน ฝักแคเล็ก พยายามขับลงทางด่วนเพชรบุรีตัดใหม่ด้วยความเร็วเพื่อให้พ้นไฟแดง แต่รถได้เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ จากนั้นตัวรถได้ไถลไปกับพื้น สร้างความตระหนกตกใจแก่คนในพื้นที่เป็นอย่างมากในขณะนั้น....



ด้วยแรงเสียดสีกับพื้นถนน ทำให้ถังบรรจุแก๊สรูปแคปซูล 2 ถัง ถังละ 20,000 ลิตร หลุดออกจากตัวรถ และเกิดเป็นความร้อนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการเพิ่มแรงอัดให้กับแก๊สที่บรรจุอยู่ภายในถังเหล็กไม่อาจทนแรงเสียดสีได้ปริแตก แก๊สที่บรรจุอยู่ภายในได้พวยพุ่งออกมาและเกิดเป็นประกายไฟและระเบิดเสียงดังหลายครั้ง ทำให้บริเวณถนนเพชรบุรีตัดใหม่และละแวกใกล้เคียงกลายเป็นทะเลเพลิงในไม่กี่วินาที!!.








ไฟได้ลุกลามอย่างรวดเร็วและครอกผู้คนที่ติดอยู่ในรถยนต์ซึ่งกำลังติดไฟแดงอยู่ ณ บริเวณนั้น หลายรายเสียชีวิตทันที บางรายก็เสียชีวิตในรถเนื่องจากสำลักควัน บางคนที่สามารถหนีออกมาได้ ก็อยู่ในสภาพที่บาดเจ็บสาหัส เนื้อตัวเป็นแผลพุผองจากเปลวไฟ ขณะเดียวกันถังแก๊สอีกถังที่ยังติดอยู่กับตัวรถไม่อาจทนทานความร้อนได้ ก็ระเบิดขึ้นมาอีกครั้ง ตึกแถวสองฟากถนนเกิดไฟลุกท่วม และลามไปติดแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่เกิดเป็นลูกไฟสูงท่วมตึกสามชั้น!!






หม้อแปลงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ข้างถนนเกิดช็อตกระแสไฟถูกตัดขาด ทำให้เกิดไฟดับ และเกิดเป็นลูกไฟพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าสีแดงฉาน ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามบ้านเรือนบริเวณนั้นและละแวกใกล้เคียงรวมทั้งชุมนุม แออัดนับ 100 หลังคาเรือน ต่างพากันพยายามหลบหนีเอาชีวิตรอด


    ไฟยังคงไหม้ต่อเนื่องนานนับชั่วโมงเจ้าหน้าที่จากหน่วยกู้ชีพ และตำรวจดับเพลิงพยายามฉีดน้ำสกัดกั้น แต่เป็นเรื่องยากที่จะทำได้ เพราะแก๊สได้ฟุ้งกระจายไปในอากาศ เพลิงมาสงบเอาในเวลา 22.00 น. ของคืนต่อมา..... 

  
  ศาลฎีกาบรรยายเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ในคำพิพากษาว่า "...เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2533 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา นายสุทัน ฝักแคเล็ก ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุลงจากทางด่วนมาที่ถนนเพชรบุรีด้วยความเร็วเพื่อเร่งให้พ้นสัญญาไฟจราจรที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นสัญญาไฟแดง นายสุทันเลี้ยวรถไปทางด้านขวามุ่งหน้าจะไปสี่แยกมักกะสัน แต่รถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุพลิกตะแคงครูดไปกับพื้นถนนจนถึงหน้าอาคารหอพักริมถนนเพชรบุรี......


  ถังบรรจุก๊าซสองถังหลุดออกจากตัวรถ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอล.พี.จี.) ที่บรรทุกมารั่วแผ่กระจายเป็นบริเวณกว้าง แล้วระเบิดเกิดเพลิงลุกไหม้ นายสุทันถึงแก่ความตายในรถ เพลิงลุกลามไหม้บ้านเรือนในชุมชนแออัดซึ่งอยู่ด้านซ้ายของถนนเพชรบุรีเสียหาย ไหม้ตึกแถวด้านซ้ายและขวาของถนนเพชรบุรีจำนวน 51 ห้อง 


   รถยนต์และรถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ในถนนเพชรบุรีตั้งแต่แยกทางด่วนถึงแยกถนนวิทยุเสียหายประมาณ 67 คัน และจากเพลิงไหม้ดังกล่าวเป็นเหตุให้มีบุคคลถึงแก่ความตาย 80 คนได้รับอันตรายสาหัส 24 คน ได้รับอันตรายแก่กาย 12 คน ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 214,926,282 บาท..."


 รถบรรทุกแก๊สคันนี้ ไม่ได้  มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดไว้คือ ไม่มีข้อต่อระหว่างถังแก๊สกับตัวรถ ซึ่งข้อต่อดังกล่าวมีประโยชน์ในการยึดติดกับตัวรถ ไม่ให้เคลื่อนตัวหรือหล่นลงมาจนเกิดอันตราย นอกจากนี้ยังไม่มีสายรัดถังแก๊สเหมือนกับที่รถบรรทุกแก๊สทั่ว ๆ ไปใช้กัน....



และเหตุการณ์อุบัติเหตุครั้งนี้ 
ภายหลังได้ถูกหยิบยกมาเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง  
"The Eye คนเห็นผี"  
ของ ออกไซด์ แปง ในปี พ.ศ. 2545 ด้วย....

 
เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 80 คน ถือได้ว่าเป็นโศฏนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย และก็ได้กลายเป็นกรณีศึกษาและสร้างบรรทัดฐานในการกู้ภัยตราบมาจนถึงทุกวันนี้!!




โปรดติดตามอันดับอื่นๆในตอนต่อไปครับ!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น