Light Yagami - Death Note

ย้อนรอยมรณะ!!...10 เหตุการณ์โศกนาฎกรรมสุดสยองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตอนที่ 3 (TopTen Thailand 's Most Shocking Events Tragedies!! Pt.3)

ก็มาถึง 5 อันดับสุดท้ายกันแล้วนะครับ... 

ไม่ต้องกริ่นนำให้มากความ....

ไปต่อกันที่อันดับที่.....




อันดับที่ 5
มฤตยูทางทะเล!!...เรือขนน้ำมันชนสนั่นเรือทัวร์ที่เกาะสีชัง


นี่ก็ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าสยดสยองครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่หลายต่อหลายคนยังคงจดจำและขวัญผวาไม่หาย....

ประมาณกลางปี พ.ศ. 2535 ซึ่งในขณะนั้นจังหวัดชลบุรีได้มีการจัดงานนมัสการเจ้าพ่อเขาใหญ่ขึ้นในบริเวณเกาะสีชัง อ.ศรีราชา ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ นิยมเดินทางมากราบไหว้ขอพรจากศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ บนเกาะสีชัง เป็นจำนวนมาก 


ซึ่งนทท.จะประกอบด้วย คนไทยเชื้อสายจีน จีน ฮ่องกง มาเลเซีย และสิงคโปร์ เนื่องจากมีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อเขาใหญ่ จึงมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากหลายพันคนได้เข้ามาร่วมในงานพิธีนี้ด้วยศรัทธาอันแรงกล้า และเดินทางมาจากทั่วทั้งประเทศ.....

การที่จะเดินทางไปยังบริเวณงานได้นั้นทุกคนจะต้องลงเรือที่บริเวณเกาะลอยศรีราชา ก่อนจะนั่งเรือข้ามฟากไปยังเกาะสีชัง ซึ่งศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ตั้งอยู่บนเขาห่างจากท่าเรือเทววงศ์ไปทางด้านเหนือของเกาะ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเกาะสีชังให้ความเคารพนับถือ ลักษณะเป็นถ้ำซึ่งดัดแปลงเป็นศาสนสถาน ที่ผสมผสานด้วยสถาปัตยกรรมจีนและไทย จากบริเวณศาลมองเห็นทิวทัศน์บ้านเรือนด้านหน้าเกาะได้ชัดเจน....


แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็ได้อุบัติขึ้น หลังจากที่นักท่องเที่ยวบางส่วนได้นมัสการเจ้าพ่อจนเสร็จ ก็พากันเดินทางกลับโดยการนั่งเรือแล้วย้อนกลับไปยังฝั่ง  ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2535 ในขณะที่เรือนาวาประทีปซึ่งบรรทุกผู้โดยสารมาเต็มลำ กำลังแล่นออกจากชายฝั่งได้ไม่นาน ก็ปรากฏมีเรือบรรทุกน้ำมันของ บริษัท บีพีพี พุ่งมาด้วยความเร็วและได้เข้าปะทะเข้ากับเรือโดยสารเข้าอย่างจังบริเวณกลางลำ!!



ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วมากจนผู้โดยสารไม่ทันได้ระวังตัว สิ้นเสียงการชนสนั่นหวั่นไหว เรือโดยสารก็หักออกเป็นสองท่อนจมลงสู่ก้นทะเลอย่างรวดเร็ว และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นกรุ๊ปทัวร์จาก จังหวัดนครปฐมกว่า 134 ชีวิตก็ผลัดตกทะเลทั้งหมด บางส่วนเสียชีวิตทันที บางส่วนก็ติดอยู่ภายในซากเรือ และร้องขอความช่วยเหลือกันอย่างน่าเวทนา....



ขณะนั้นเองที่หน่วยกู้ภัยทางทะเลก็รีบรุดมายังที่เกิดเหตุและพยายามเข้าช่วยเหลือผู้รอดชีวิต แต่ก็ไม่ทันการเสียแล้ว ที่น่าสลดก็คือ ส่วนใหญ่เหยื่อผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ติดอยู่ที่ห้องโดยสารและหาทางหนีออกมาไม่ทัน....เสียชีวิตทั้งสิ้นรวม 119 ศพ เหลือผู้รอดชีวิตมาเพียง 15 คนเท่านั้น....




นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์โศกนาฎกรรมทางน้ำครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลมาจากความประมาทและความผิดพลาดของการประสานงานของเรือทั้งสองลำ ที่ไม่ได้ติดต่อสื่อสารกันให้เข้าใจในการเดินทางสัญจรบนทะเลเสียก่อน ก่อนที่จะออกเดินทางไปและเกิดอุบัติเหตุในที่สุด....


หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทางกรมเจ้าท่าและจังหวัดชลบุรี
จึงได้มีการส่งเสริมและจัดการให้เรือโดยสารทุกลำ
ต้องจำเป็นมีเสื้อชูชีพให้กับนักท่องเที่ยวทุกคน
 ก่อนที่จะออกเดินทางทุกครั้ง เพื่อป้องกันเหตุสุดวิสัย
ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันในครั้งต่อๆไป....








อันดับที่ 4
ถล่มสยอง...โรงแรมนรกรอยัลพลาซ่า โคราช


ภาพความสยดสยองของเหตุการณ์โรงแรมรอยัลพลาซ่า ใจกลางเมืองโคราช ถล่มทับพนักงานโรงแรม และแขกที่เข้าพักจนเสียชีวิตนับร้อยคน เมื่อปีพุทธศักราช 2536 สร้างความสะเทือนใจแก่คนไทยตราบทุกวันนี้ ความสูญเสียที่มิอาจประเมินค่าอันเกิดจากความ "ชุ่ย" เห็นแก่ตัวของคนบางคน คงจะเป็นอุทาหรณ์แก่คนรุ่นปัจจุบันเป็นอย่างดี....


จังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประตูสู่ภาคอีสาน คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่หนีความวุ่นวายออกไปเสพสุขตามต่างจังหวัด โรงแรมต่าง ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด หนึ่งในนั้น "โรงแรม รอยัลพลาซ่า" หรือชื่อเดิม "โรงแรม เจ้าพระยาเมืองใหม่" ถือเป็นโรงแรมหรู 1 ใน 5 ของจังหวัด ทว่าภาพที่สวยหรูภายนอกกลับแฝงภัยเงียบที่ค่อย ๆ คืบคลาน จนกระทั่งกลืนชีวิตคนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่นับร้อยคน ในเวลาต่อมา!? 


ลางหายนะของโรงแรมแห่งนี้เริ่มปรากฏชัดในปีพุทธศักราช 2533 เมื่อกลุ่มผู้บริหารลงความเห็นว่า ควรมีการต่อเติมอาคารจากเดิม 3 ชั้น เป็น 6 ชั้น เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว จากนั้นโรงแรมแห่งนี้ก็มีการต่อเติม และขยายพื้นที่ของอาคารอย่างผิดหลักวิศวกรเรื่อยมา โดยไม่ใส่ใจถึงความปลอดภัยในชีวิตของพนักงาน และแขกที่เข้ามาพักในโรงแรมแม้แต่น้อย! 


สิ่งที่ทุกคนไม่เคยรู้มาก่อน คือเจ้าของโรงแรมผู้เห็นแก่ได้ ลักลอบต่อเติมอาคารอย่างไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการตัดเสาขนาดใหญ่ตรงกลางห้องอาหารของโรงแรมทิ้ง หวังเพิ่มพื้นที่ใช้สอย และต้องการให้แขกสามารถเห็นนักร้องได้ชัดเจนขึ้น! 



และแล้วหายนะครั้งร้ายแรงก็อุบัติขึ้นเมื่อเวลาราว 10 โมงเช้า วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2536 ตัวโรงแรมเกิดการทรุดตัวอย่างรุนแรง และถล่มลงมาทั้งอาคารในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยตัวโรงแรมเริ่มทรุดตัวจากตอนกลางของอาคารก่อน จากนั้นปีกทั้งสองด้านข้างของอาคารก็พังซ้ำลงมาอีก การทรุดตัวอย่างรุนแรง และรวดเร็วก่อให้เกิดเสียงดังปานฟ้าถล่มดินทลาย!!


ฝุ่นผงจากซากอาคารตลบคลุ้งทั่วบริเวณ กองซากปรักหักพังกลบฝังร่างมนุษย์กว่า 500 ชีวิต ทั้งพนักงานโรงแรม และแขกที่เข้าพัก มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่ชั้นล่าง และไหวตัวทัน รอดพ้นเงื้อมมือมัจจุราชได้อย่างหวุดหวิด กระนั้นเมื่อมองไปยังซากปรักหักพัง ก็ไม่มีใครสามารถสะกดกลั้นความตื่นตระหนก ต่อประสบการณ์สยองที่เพิ่งประสบสด ๆ ร้อน ๆ ได้!!


ซากปรักหักพังที่ทับถมอย่างแน่นหนา ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งยวด เพราะการเร่งรื้อซากอย่างไม่ระวังอาจหมายถึงการสูญเสียหลายชีวิตที่ยังมีลม หายใจรวยริน ระหว่างการค้นหาเจ้าหน้าที่ประกาศห้ามผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องห้ามเข้ามาในบริเวณ เกรงว่าจะเกิดเหตุชุลมุน ฝ่ายทหารได้นำรถทหารช่างมาช่วยรื้อถอนซากอาคาร และระดมกำลังพลกว่า 200 นาย เพื่อบริจาคเลือดเป็นกรณีเร่งด่วน...



จากนั้น ศพแล้วศพเล่าก็ถูกลำเลียงออกมา บางศพอยู่ในสภาพสมบูรณ์ บางศพกู้ได้เฉพาะอวัยวะที่มีชิ้นส่วนกระจัดกระจายจำเค้าเดิมแทบไม่ได้ โชคยังเข้าข้างที่มีผู้รอดชีวิตหลงเหลืออยู่บ้าง ทำให้ผู้ป่วย ที่เข้ารักษาในพื้นที่แน่นขนัดจนแทบล้นโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ต่างทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ เพื่อเร่งหาผู้ที่รอดชีวิต จนเวลาล่วงเลยไป 6 วัน จึงยกเลิกการค้นหา....


ผลการค้นหาพบผู้เสียชีวิต 137 ราย และบาดเจ็บกว่า 300 คน ตำรวจสรุปสาเหตุของหายนะครั้งนั้นว่า เกิดจากความบกพร่อง ของเจ้าของอาคารที่มีการต่อเติมอาคารผิดจากแบบเดิม ทำให้อาคารไม่สามารถ รองรับน้ำหนักได้....



จึงได้แจ้งข้อหาแก่ 6 ผู้บริหารโรงแรม รวมทั้งวิศวกรผู้ออกแบบ ในข้อหากระทำการประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต ผ่านมากว่า 10 ปี คดีในชั้นศาลจึงสิ้นสุดลง เมื่อศาลฎีกาตัดสินจำคุกนายบำเพ็ญ พันธุ์รัตนอิสระ วิศวกรผู้ออกแบบโรงแรม เป็นเวลา 20 ปี ส่วนผู้บริหารโรงแรมทั้ง 6 ศาลยกฟ้อง....


โดยวินิจฉัยว่า เจ้าของโรงแรมไม่มีความผิด เพราะไม่มีความรู้ด้านก่อสร้าง และทางโรงแรมได้ชดเชยเงินให้กับผู้เสียชีวิตรวม 5 ล้านบาท และเงินที่รับบริจาคอีก 5 แสนบาท เฉลี่ยแล้วผู้เสียชีวิตญาติได้รับเงินรายละ 80,000 บาท และผู้พิการได้รับรายละ 50,000 บาท....

และนี่ก็ถือว่าเป็นอุทธาหรณ์สอนใจเป็นอย่างดี
สำหรับผู้บริหาร และ เหล่าสถาปนิก
ผู้ที่ต้องการต่อเติมสร้างอาคารให้มากกว่าที่เป็นอยู่ 
เพราะควรคำนึงถึงความปลอดภัยให้มากกว่า 
 แทนที่จะคิดถึงแต่ผลประโยชน์แก่ตน
แต่เพียงอย่างเดียว....


เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาแล้ว 
บางสิ่งบางอย่างมันไม่สามารถนำกลับคืนมาได้ 
นั่นคือ ชีวิตของผู้ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ 
ที่ต้องมาสังเวยไป ด้วยความประมาท
ของคนเพียงไม่กี่คน....







อันดับที่ 3
ย่างสยอง....เพลิงมัจจุราช!! โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์


ย้อนกลับไปเมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2536 ณ บริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานตุ๊กตาขนาดใหญ่ ประกอบด้วยอาคาร 5 ชั้น จำนวน 4 อาคาร ตั้งอยู่บนถนนพุทธมณฑลสาย 4 ตำบลกระทุ่มล้ม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
 


ขณะที่คนงานกำลังทำ งานอยู่ภายในอาคาร ได้เกิดเพลิงไหม้ชั้นล่างของอาคาร 1 ซึ่งต้นเพลิงมาจากห้องเก็บตุ๊กตา ทำให้คนงานกว่า 1,400 ชีวิต พยายามวิ่งหนีตายออกจากอาคารอย่างอลหม่าน บางคนทนความร้อนไม่ไหวก็ได้กระโดดลงมาทางช่องหน้าต่างชั้นสองและชั้นสามได้รับบาดเจ็บแขนขาหักกัน บางคนก็เสียชีวิตทันที!!


ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสถานที่เกิดเหตุเป็นโรงงานตุ๊กตาผ้าที่มีเศษผ้า และวัสดุไวไฟอยู่เป็นจำนวนมาก ในขณะที่หลายร้อยชีวิตกำลังหาทางเอาตัวรอดจากควันไฟที่ลุกโชนอยู่นั้น เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นซ้ำสอง....


เมื่อเพลิงที่ลุกไหม้ได้ เพียง 15 นาที ได้ทำให้ตัวอาคารถล่มลงมาในพริบตา ฝังคนงานที่กำลังหนีตายไว้ใต้ซากปรักหักพังที่ถูกไฟไหม้ และเหตุร้ายยังไม่หมดไป เมื่อไฟได้ลามไปยังอาคารโรงงานข้างเคียงซึ่งมีทั้งหมด 4 อาคาร และในที่สุดมันก็ได้พังถล่มลงมาตามๆกันทั้ง 3 อาคารยกเว้นอาคารที่ 4 ที่ไฟยังลามไปไม่ถึง 




พนักงานดับเพลิงต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงจึงจะสามารถควบคุมเพลิงได้ในที่สุด ก่อนที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยจะเร่งเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในซากอาคาร พร้อมกับลำเลียงร่างของผู้เสียชีวิตออกมา....




ที่น่าเศร้าคือ โศกนาฏกรรมครั้งนี้ ได้คร่าชีวิตผู้คนมากถึง 188 ราย ขณะที่มีผู้บาดเจ็บถึง 469 ราย ซึ่งหลายรายได้รับบาดเจ็บสาหัส บางรายต้องกลายเป็นคนพิการ หรือเป็นอัมพาตตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังมีเด็ก ๆ อีกกว่า 50-60 คน ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาในสังคม....


 


เบื้องต้นมีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเหตุมาจากการวางเพลิง เพราะโรงงานเคยถูกไฟไหม้มาหลายต่อหลายครั้งและ ทางโรงงานยังได้ทำประกันภัยเอาไว้ในวงเงินกว่า 700 ล้านบาท แต่จากการสืบสวนก็ได้ผลสรุปออกมาว่า ไม่ใช่การวางเพลิงแต่อย่างใด....




สุดท้ายแล้ว เจ้าหน้าที่ได้สืบสวนสาเหตุของเพลิงมรณะครั้งนี้ และพบว่า เกิดจากความประมาทของพนักงานที่สูบบุหรี่ในโรงงาน ทำให้เกิดไฟลุกไหม้วัสดุที่ใช้ผลิตตุ๊กตา นอกจากนั้น เมื่อตรวจสอบในเชิงลึก กลับพบว่า โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยหลายประการ ทั้งไม่มีบันไดหนีไฟ ประตูทางออกฉุกเฉินกว้างไม่ได้มาตรฐาน และยังมีจำนวนน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนของพนักงาน รวมทั้งโรงงานไม่เคยซักซ้อมการหนีไฟอย่างเป็นระบบให้กับพนักงาน



ขณะเดียวกันก็มีการวิเคราะห์กันด้วยว่า สาเหตุที่อาคารพังถล่มลงมาอย่างรวดเร็วหลังเกิดเพลิงไหม้เพียง 15 นาที เป็นเพราะโครงสร้างของอาคารไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากโรงงานแห่งนี้ต้องการประหยัดต้นทุน จึงก่อสร้างด้วยโครงเหล็กสำเร็จรูป ซึ่งไม่ทนไฟ


 

หลังเกิดเหตุการณ์ทางนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นจึงได้สั่งการมายังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รีบเร่งเข้าช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสปภัย






รวมทั้งพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อหาสาเหตุการเกิดไฟไหม้ในครั้งนี้อย่างเร่งด่วน!!





"เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนั้นถูกบันทึกเอาไว้ว่า 
เป็นเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรม
ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก!!"

จนในที่สุดหลังเกิดเหตุการณ์ จึงทำให้มีการผลักดันให้ภาคแรงงาน และพนักงานจากโรงงานหลายๆแห่ง ผนึกกำลังกันออกมารณรงค์และเรียกร้องให้ผู้ประกอบการปรับปรุงมาตรฐานความ ปลอดภัยภายในโรงงานมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุสลดซ้ำรอยโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์อีก

 
จากการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ก็ทำให้เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2540 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่เกิดเพลิงไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ เป็น "วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ"  เพื่อรำลึกถึงโศกนาฏกรรมดังกล่าว และย้ำเตือนให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันอันตราย และการดูแลความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพ....



โศกนาฏกรรมเพลิงไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์
จึงกลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่กระตุ้น
ให้เกิดการผลักดันเรื่องสวัสดิภาพ
ความปลอดภัยของพนักงานในสังคม
ซึ่งต้องแลกมาด้วยหลายร้อยชีวิต
กว่าที่สังคมจะตระหนักและตื่นตัว...








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น